ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์
วันรพี 7 สิงหาคม ของทุกปี รู้หรือไม่ว่าวันรพี เป็นวันน้อมรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย นั่นคือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
ประวัติพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
ประสูติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 ตรงกับวาระทางสุริยคติ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2417
การศึกษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะส่งพระราชโอรสทุกพระองค์ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแผ่อำนาจแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ
เหตุที่พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย ก็เนื่องจากช่วงเวลานั้น เมืองไทยมีศาลกงสุลฝรั่ง ชาวยุโรปและอเมริกันมีอำนาจในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งยากแก่การปกครอง จึงมีพระทัยตั้งมั่นที่จะพยายามขอยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่าง ๆ ที่มาตั้งพิจารณาพิพากษาคดีชนชาติของตนเสีย เพื่อที่ประเทศไทยของเราจะได้มีเอกราชทางการศาลอย่างแท้จริง
พระองค์ท่านจึงทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย เพื่อจะได้กลับมาพัฒนากฎหมายบ้านเมืองกับพัฒนาผู้พิพากษาและราชการศาลยุติธรรมให้ดีขึ้น และที่สำคัญเพื่อให้ต่างชาติยอมรับนับถือกฎหมายไทย และยอมอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงมีพระสติปัญญาฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง ในต้นปี 2434 พระองค์ทรงสามารถสอบผ่านเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Christchurch College Oxford University) ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา
ซึ่งทีแรกมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับเข้าศึกษา โดยอ้างว่าพระชนมายุยังไม่ถึง 18 พรรษา ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย พระองค์จึงต้องเสด็จไปขอความกรุณา โดยพระองค์ดำรัสว่า "คนไทยเกิดง่ายตายเร็ว" ทางมหาวิทยาลัยจึงยอมผ่อนผันโดยให้ทรงสอบไล่อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ก็ทรงสอบได้อีก
และด้วยความที่พระองค์ทรงพระวิริยอุตสาหะเอาพระทัยใส่ในการเรียนเป็นอย่างมาก ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาและได้รับปริญญาเกียรตินิยมทางกฎหมาย Bachelor of Arts.Hons (B.A. (Oxon)) เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา โดยใช้เวลาศึกษาเพียง 3 ปี
ด้วยพระปรีชาญาณดังกล่าวเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ถึงกับทรงเรียกพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ว่า "เฉลียวฉลาดรพี"
หลังจากสำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงเรียนเนติบัณฑิตอังกฤษ (Barrister at law) ที่กรุงลอนดอน แล้วจะเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสด็จกลับมารับราชการที่ประเทศไทยเสียก่อน
งานราชการและพระกรณียกิจ
ปี 2437เมื่อ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เสด็จกลับมาพระองค์ก็ทรงเป็นอธิบดีผู้จัดการโรงเรียมหาดเล็กหลวงเพื่อสอนความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้เข้ารับราชการพลเรือนในกระทรวงต่าง ๆ และต่อมาพระองค์ทรงสมัครรับราชการทางฝ่ายตุลาการ แล้วทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ และทรงศึกษากฎหมายไทยอย่างจริงจัง
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะ ไม่นานพระองค์สามารถทำงานในกรมราชเลขานุการได้ทุกตำแหน่งโดยเฉพาะการร่างพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นองคมนตรีในปีเดียวกันนั้น
ปี 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นสภานายกพิเศษจัดการตั้งศาลในมณฑลอยุธยา พระองค์ทรงทำการในหน้าที่ด้วยพระปรีชาสามารถ เป็นที่นิยมยินดีของหมู่ชนในมณฑลนั้น
ปี 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นประธานพร้อมด้วยกรรมการไทยและฝรั่ง ช่วยกันตรวจชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่และปรึกษาลักษณะการที่จะจัดระเบียบแล้วเรียบเรียงกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และในปีเดียวกันนั้นก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และคงอยู่ในตำแหน่งสภานายกพิเศษจัดการศาลตามเดิมด้วย
ในการปรับปรุงกฎหมาย เบื้องต้นมีการนำกฎหมายอังกฤษมาใช้ โดยใช้กฎหมายวิธีสบัญญัติก่อน ทีแรกมีข้อถกเถียงกันว่าจะใช้ระบบกฎหมายแบบอังกฤษ หรือจะใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ แบบประเทศยุโรปแล้ว
รัชกาลที่ 5 ก็ทรงตัดสินพระราชหฤทัยปฏิรูประบบกฎหมายไทยให้เป็นไปตามแบบประเทศภาคพื้นยุโรป คือ ใช้ระบบ "ประมวลธรรม" แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังนำแนวคิดหลักกฎหมายอังกฤษบางเรื่องมาใช้ด้วย
ประมวลกฎหมายของไทยฉบับแรก คือ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ใช้เวลาร่างทั้งสิ้น 11 ปี โดยสำเร็จลงในปี 2451 พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงช่วยแปลต้นร่างที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ส่วนประมวลกฎหมายฉบับต่อ ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพต่าง ๆ พระองค์ก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการยกร่างด้วย
ในปีเดียวกันนี้ พระองค์เจ้ารพีฯ มีพระดำริว่า "การที่จะยังราชการศาลยุติธรรมให้เป็นไปด้วยดีนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยการเปิดให้มีการสอนกฎหมายขึ้นเป็นที่แพร่หลาย" จึงทรงสถาปนาโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้น สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทั้งหลายมีโอกาสรับการศึกษากฎหมาย และพระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เองด้วย
และแล้วปลายปี 2440 พระองค์ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เนติบัณฑิต โดยใช้ศาลาการเปรียญใหญ่ วัดมหาธาตุ เป็นสถานที่สอบ ใช้เวลาสอบทั้งสิ้น 6 วัน วันละ 4 ชั่วโมง ให้คะแนนเป็นเกรด ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีทั้งสิ้น 9 คน ผู้สอบได้ลำดับที่ 1 ในครั้งนั้น คือ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตไทยคนแรก
ปี 2441 พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาในคณะกรรมการ มีชื่อว่า "ศาลกรรมการฎีกา" ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศ แต่ไม่สังกัดกระทรวงยุติธรรม และต่อมาได้กลายมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน
ปี 2442 ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็น "กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์"
ปี 2443 ทรงดำริจัดตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือ และวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดหลายครั้ง ปี 2453 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี
ปี 2455 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และในปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์คชนาม"
ปี 2462 พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรค ที่พระวักกะ (ไต) และได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาพักราชการรักษาพระองค์ และได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แพทย์ได้จัดการรักษาและถวายพระโอสถ อย่างเต็มความสามารถแต่พระอาการหาทุเลาลงไม่
จนกระทั่งวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2463 พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์ สิริพระชนมายุ 47 พรรษา
ทรงปฏิรูประบบกฎหมาย และเป็นห่วงผู้พิพากษา
ในสมัยพระองค์ การปฏิรูปงานศาล เป็นสิ่งจำเป็นต่อสยามประเทศเป็นอย่างมาก มูลเหตุเนื่องจากศาลในตอนนั้นกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ อันส่งผลให้การพิจารณาอรรถคดีเป็นไปด้วยความล่าช้ามาก อำนาจตุลาการขาดอิสระถูกแทรกแซงโดยอำนาจบริหาร รวมทั้งมีการทุจริตเนื่องจากขาดระบบตรวจสอบ การตัดสินคดี ตลอดจนเกิดวิกฤตการณ์เรื่องเอกราชทางการศาล ที่ต่างชาติไม่ยอมขึ้นศาลไทย แต่กลับตั้งศาลกงสุลพิจารณาตัดสินคดีคนในชาติของตนเอง ดังนั้น เพื่อทำให้การยุติธรรมสามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ พระองค์จึงทรงพัฒนาระบบงานยุติธรรมทั้งระบบ และมีการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีฝ่ายธุรการคอยให้ความสะดวก และทรงได้วางนโยบายให้ศาลสามารถตัดสินคดีโดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับอารยประเทศ
ในเรื่องนี้ ทรงเคยรับสั่งไว้ว่า "อำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ใต้อุ้งมือฝ่ายธุรการนั้นใช้ไม่ได้ มีแต่จะเกิดภัยขึ้นเสมอ ดังที่รัฐบาลเองก็ได้ประกาศแสดงความอันนั้นหลายครั้ง..."
ซึ่งการที่ศาลสามารถตัดสินคดีความได้อย่างอิสระนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักประกันความยุติธรรมในศาลอันเป็นที่พึ่งของประชาชน และนำไปสู่การยอมรับของประเทศอื่น ๆ ความประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ กว่าจะแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมฝ่ายบริหารได้ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปีเลยทีเดียว ซึ่งศาลเพิ่งแยกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรม เมื่อประมาณปี 2543 เอง
พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเอาพระทัยใส่คุณสมบัติของบุคคลผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษาเป็นพิเศษ พระองค์ทรงยึดมั่นว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอุดมคติสำคัญยิ่งกว่ากิจส่วนตัวใด ๆ พระองค์เจ้ารพีฯ ก็ได้ทรงตักเตือนผู้พิพากษาเสมอมาว่า "อย่ากินสินบน"
นอกจากนี้ พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเรื่องเงินเดือนผู้พิพากษาให้เหมาะสมกับศักดิ์และหน้าที่ การที่จะให้ผู้พิพากษาคงความดีเอาไว้นั้น ต้องระลึกถึงเงินเดือนที่จะให้แก่ผู้พิพากษาด้วย เพราะกว่าจะเป็นผู้พิพากษาได้นั้น ต้องใช้เวลาศึกษานานเป็นพิเศษกว่าจะสำเร็จ ตำแหน่งที่จะเลื่อนขึ้นก็มีน้อย และอีกข้อหนึ่งในราชการอย่างอื่น ตามภาษาไพร่เรียกว่า "มีกำลังในราชการ" แต่ฝ่ายตุลาการไม่มีเลย
ทรงได้รับการถวายพระสมัญญาว่า "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"
ด้วยคุณาณุปการอันล้นพ้นดังกล่าวข้างต้น เนติบัณฑิตยสภาจึงได้ถวายการยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" เมื่อปี 2497 ทั้งเริ่มต้นเรียก วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี เป็น "วันรพี" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พร้อมทั้งมีการจัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเป็นประจำทุกปี
คติพจน์เตือนใจนักกฎหมาย
สมัยพระองค์เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ทรงทุ่มเทให้กับงานราชการอย่างเต็มความสามารถ มิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระยามานวราชเสวีจึงทูลว่า "ไม่เคยเห็นใครทำงานมากอย่างใต้ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าพระบาทมีพระประสงค์อย่างไร" ทรงตอบว่า "รู้ไหมว่า My life is service" ซึ่งหมายความว่า ชีวิตของฉันเกิดมา เพื่อรับใช้ประเทศชาติ"