ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์
การปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) ผู้ต้องหาหรือจำเลย และบังคับคดีผู้ประกัน
การขอปล่อยชั่วคราวคืออะไร
การปล่อยชั่วคราว คือ การอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานศาลตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี เพราะหากไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ควรที่จะให้ปล่อยชั่วคราวไป ตามหลักการของรัฐธรรมนูญที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
ใครมีสิทธิยื่นขอปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวบ้าง
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิขอประกันตนเองได้
- ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้
- นายประกันอาชีพ หมายถึง บุคคลซึ่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ด้วยการวางหลักทรัพย์ของตนเองเป็นหลักประกัน โดยคิดค่าตอบแทนจากการใช้หลักทรัพย์นั้น
การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวมีกี่ประเภท
การปล่อยชั่วคราว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- การขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกัน เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกเท่านั้น
- การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว โดยก่อนปล่อยไปผู้ประกันต้องลงลายมือชื่อในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน
- การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว โดยผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันต้องลงลายมือในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล และมีการวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะสามารถบังคับเอากับหลักประกันตามจำนวนที่ระบุไว้ เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน
เอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวมีอะไรบ้าง
ผู้ร้องขอประกันจะต้องนำต้นฉบับเอกสารพร้อมสำเนาเอกสารที่ใช้ประกอบคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวมายื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรประจำตัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน
- ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ของผู้ขอประกัน
- หลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 ก) เงินสด บัญชีเงินฝาก
- กรณีชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฏในเอกสารสิทธิในหลักทรัพย์ ต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หรือหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือชื่อสกุล
- กรณีขอประกันตัวด้วยตำแหน่งหน้าที่ต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง
- กรณีใช้โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นประกันต้องใช้หนังสือรับรองราคาประเมิณ
- กรณีใช้สมุดเงินฝากเป็นประกันต้องมีหนังสือรับรองจากธนาคาร
4. กรณีผู้ประกันมีคู่สมรสต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบัตรประจำตัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ และทะเบียนบ้านของคู่สมรส
- ใบสำคัญการสมรส
- หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส
- ถ้าหากผู้ขอประกันเป็นหม้ายโดยการตายของคู่สมรสหรือการหย่าต้องแสดงเอกสารใบมรณบัตรคู่สมรสหรือใบสำคัญการหย่า
หลักประกันที่ใช้ในการขอปล่อยชั่วคราวมีอะไรบ้าง
หลักประกันที่สามารถนำมาใช้ในการยื่นขอปล่อยชั่วคราวมี 3 ชนิด คือ
- เงินสด
- หลักทรัพย์อื่น เช่น
- เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน ได้แก่ โฉนดที่ดิน น.ส.3 น.ส.3 ก. พร้อมหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ระวางที่ดิน ภาพถ่ายที่ดิน พร้อมแนบที่ตั้งที่ดินที่นำมายื่น
- ห้องชุดมีโฉนดที่ดินและหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยต้องไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดีได้
- ทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน สลากออมสินทวีสิน สลาก ธ.ก.ส. พร้อมหนังสือรับรอง สมุดเงินฝากประจำธนาคาร หรือใบรับฝากประจำของธนาคารพร้อมหนังสือรับรองยอดเงินคงเหลือ และรับรองว่าธนาคารจะไม่ยอมให้ถอนเงินจนกว่าจะได้รับคำสั่งจากศาล หนังสือค้ำประกันของธนาคาร
- หนังสือรับรองจากส่วนราชการค้ำประกันตามระเบียบกระทรวงการคลัง
- หนังสือรับรองกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ พร้อมแสดงตารางกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ
- ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและรับรองตลอดไปแล้วเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองและสามารถเรียกเก็บเงินได้ภายในวันทำสัญญาประกัน
- หลักประกันเดิมที่วางไว้เป็นประกันต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ โดยจะต้องมีหนังสือรับรองจากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ รับรองว่าได้วางหลักประกันไว้จริงและจะส่งมายังศาลพร้อมกับสำเนาสัญญาประกันและเอกสารเกี่ยวกับหลักประเมินนั้น
- วางเงินประกันผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC mastercard) (ธนาคารคิดค่าธรรมเนียม ร้อยละ ๑)
4. บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกัน ต้องมีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการการเมืองหรือทนายความ และเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้องผู้ บังคับบัญชา นายจ้างโดยต้องแสดงหนังสือรับรองตำแหน่งและเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือน ที่ออกให้ไม่เกิน ๑ เดือน สามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน ๑๐ เท่าของเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน แต่ในกรณีที่ใช้ประกันตนเองในฐานความผิดซึ่งเกิดจากการ ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพให้ประกันได้ไม่เกิน ๑๕ เท่าของเงินเดือน (คดียาเสพติดใช้เฉพาะบิดา มารดา คู่สมรส บุพการีผู้สืบสันดาน เท่านั้น)
การประกันภัยอิสรภาพคืออะไร
การประกันภัยอิสรภาพ เป็นการประกันภัยที่จัดทำขึ้นโดยมีแนวความคิดมาจากการที่ศาลยุติธรรมจะจัดระบบการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถใช้หนังสือรับรองความรับผิดของบริษัทประกันภัยเป็นหลักประกันมาวางต่อศาลได้ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมกันจัดให้มีกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันหรือมีไม่เพียงพอ เมื่อประชาชนซื้อประกันภัยอิสรภาพแล้ว บริษัทประกันภัยก็จะออกหนังสือรับรองให้เอาประกันภัยไว้ หากผู้เอาประกันภัยได้กระทำความผิดและตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างระยะเวลาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย จะได้รับความสะดวกจากการที่สามารถใช้หนังสือรับรองนี้ยื่นต่อศาลเพื่อใช้ในการประกันตัวโดยไม่ต้องหาหลักประกันหรือหลักทรัพย์อื่นใดมาวางเป็นประกันซึ่งบริษัทประกันภัยจะคิดเบี้ยประกันภัยแบ่งตามชั้นศาลที่มีคำพิพากษาและฐานความผิด ซึ่งทางศาลได้ปิดประกาศไว้เพื่อให้ตรวจสอบ โดยมีอัตราเบี้ยประกันร้อยละ 2 - 20
ใคร คือ ผู้ประกัน/นายประกัน
ผู้ประกันหรือนายประกัน หมายถึง บุคคลที่นำทรัพย์สินของตน ซึ่งเรียกว่าหลักประกันมาวางไว้ต่อศาล เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้หากมีกรณีผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย
ผู้ประกัน/นายประกันมีหน้าที่อะไร
เมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว ผู้ประกันมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามเวลาที่ศาลกำหนดนัดจนกว่าศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีและมีคำสั่งให้ความรับผิดชอบตามสัญญาประกันหมดไป หากผู้รับประกันไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามกำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ศาลจะมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามวงเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน ทั้งนี้ กรณีศาลอนุญาตให้ประกันโดยมีเงื่อนไข เช่น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ศาล หรือห้ามออกนอกราชอาณาจักร ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ขอประกันก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น ผู้ประกันจึงต้องคอยติดตามอยู่เสมอว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ที่ใดในระหว่างการปล่อยชั่วคราว
จะยื่นขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลได้เมื่อใด
- เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาและยังไม่ได้นำตัวมาฝากขังต่อศาลให้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน
- เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวนนำตัวมาฝากขังต่อศาล ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล
- เมื่อตกเป็นจำเลย
- โดยพนักงานอัยการนำตัวไปฟ้องศาล
- ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วคดีมีมูล และศาลประทับรับฟ้อง
4. เมื่อถูกขังตามหมายศาล เช่น จำเลยที่หลบหนีไปและถูกศาลออกหมายจับ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ หรือกรณีที่พยานไม่มาศาลและถูกศาลออกหมายจับ หรือจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือกักขัง และคดีมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้
ขั้นตอนการขอประกันตัว
- เขียนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากเจ้าหน้าที่ของศาล และให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อในคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
- ผู้ประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพร้อมพยานหลักฐานต่าง ๆ
- เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำร้องและหลักฐาน ลงบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐานแล้วเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้อง
- หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ประกันอาจต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับหลักฐานการขอปล่อยชั่วคราวและใบรับเงินให้
- เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
- หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ขอปล่อยชั่วคราวขอรับหลักทรัพย์ที่ยื่นไว้คืนได้จากเจ้าหน้าที่ของศาล
>>>การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว และคำร้องอุทรณ์คำสั่งศาล ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service : CIOS)<<<
ลงทะเบียนหรือเข้าใช้งานระบบได้ทาง QR Code ด้านล่าง
หรือทาง https://cios.coj.go.th
คู่มือการลงทะเบียน (ยืนยันตัวตนในระบบ CIOS) เพื่อขอปล่อยชั่วคราวผ่านระบบออนไลน์